วันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557

Wearable Device เทรนด์ใหม่ล่าสุดต่อจากสมาร์ทโฟน
     จากงานแถลงข่าวพิเศษของบริษัทแอปเปิลในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเปิดตัว iPhone 6 และ iPhone 6 Plus แล้ว อีกอุปกรณ์หนึ่งที่คนเฝ้ารอดูและเป็นที่ฮือฮาค่อนข้างมากคือ "นาฬิกา" ที่แอปเปิลเรียกว่า Apple Watch นั่นเอง การเปิดตัว Apple Watch ครั้งนี้ทำให้เห็นได้ว่าการแข่งขันของบริษัทไอทีทั้งหลาย ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนอีกแล้ว แต่เริ่มล้ำเข้ามาถึงอุปกรณ์ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น นาฬิกาข้อมือ หรือ แว่นตา ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เราเรียกว่า "อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ (wearable device)" นั่นเอง วันนี้ผมเลยจะขอมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังกันครับ
          จริงๆ แล้วไอเดียเรื่อง wearable device นั้น ได้มีมาสักพักหนึ่งแล้ว นำทีมโดยฝั่งแอนดรอยด์ที่ได้เปิดตัว Google Glass แว่นตาอัจฉริยะ ในปีที่แล้ว และเปิดตัวนาฬิกาหลากหลายรูปแบบบนพื้นฐานเดียวกันที่เรียกว่า Android Wear จากหลายผู้ผลิต เช่น Samsung Gear, Moto 360, LG G Watch
           อุปกรณ์ wearable device เหล่านี้ มีจุดประสงค์หลักๆ 2 อย่างคือ 1.) เป็นส่วนขยายของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเรา และ 2.) เป็นอุปกรณ์ที่คอยตรวจสอบและเก็บข้อมูลสภาวะร่างกายของผู้สวมใส่ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหว (จำนวนก้าวหรือระยะทาง) เพื่อนำมาใช้วิเคราะห์สุขภาพของผู้สวมใส่ได้ทันทีหรือทำเป็นสรุปข้อมูลภายหลังก็ได้
           จุดประสงค์แรกที่เป็นส่วนขยายของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนนั้น มีข้อดีคือ ช่วยในการแสดงผลการแจ้งเตือนต่างๆ ทำให้เราไม่ต้องหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดูบ่อยครั้ง บางอย่างสามารถตอบกลับได้จาก wearable device เลย เช่น การตอบข้อความ SMS สั้นๆ หรือการสั่งการด้วยเสียง แต่อย่างไรก็ดีเราจำเป็นที่จะต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์เหล่านี้เข้ากับโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเราตลอดเวลา ทำให้ต้องมีการใช้งานแบตเตอรี่จากสมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้อุปกรณ์ wearable device ยังจำเป็นจะต้องมีพลังงานหล่อเลี้ยงตลอดเวลา ทำให้เจ้าของจะต้องนำไฟชาร์ทไฟหลังการใช้งาน ซึ่งอาจจะเป็นทุกวันหรือ 2-3 วันครั้ง สิ่งนี้ทำให้การใช้งานไม่ค่อยสะดวกนักและทำให้เพิ่มความต้องการการใช้พลังงานโดยรวมมากขึ้นไปอีก
           อีกจุดประสงค์หนึ่งคือการใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจสอบและเก็บข้อมูลสภาวะร่างกายของผู้สวมใส่ ซึ่งสอดรับกับเทรนด์การนำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ที่กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากอยู่ในขณะนี้ อุปกรณ์เหล่านี้สามารถเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนก้าวที่เดิน ปริมาณพลังงานหรือแคลอรี่ที่ใช้ไประหว่างวันหรือระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อนำมาวิเคราะห์สุขภาพของผู้สวมใส่ได้ทันที
          เป็นไงบ้างครับ น่าสนใจจริงๆ กับอุปกรณ์ประเภท wearable device เหล่านี้ ผมเชื่อว่าอุปกรณ์เหล่านี้คงจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบอื่นอีกที่ไม่ใช่นาฬิกาข้อมือ เช่น แว่นตา (Google Glass เป็นผู้นำในเรื่องนี้แล้ว) แหวน แถบรัดข้อมือ ฯลฯ โดยทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น สบายขึ้น และมีสุขภาพที่ดีขึ้น ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทิศทางของอุปกรณ์เหล่านี้จะไปในทิศทางใด เป็นที่ยอมรับมากน้อยขนาดไหน สำหรับผม ตอนนี้ขอเก็บเงินไว้ซื้อ Apple Watch ไว้ใช้สักเครื่องก่อนนะครับ
อ้างอิงจาก
wikipedia.com, cnet.com, flickr.com

ไม่มีความคิดเห็น: